การประกันอัคคีภัย ( Fire Insurance )

การประกันอัคคีภัย

Fire Insurance

การประกันอัคคีภัย เป็นการประกันวินาศภัยประเภทหนึ่ง ผู้เอาประกันภัยจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย การทำประกันอัคคีภัยจึงสามารถบรรเทาความเสียหายและสามารถลดภาระความเดือดร้อนด้านการเงินได้ในระดับหนึ่ง

การประกันอัคคีภัยให้ความคุ้มครองการสูญเสียหรือเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ตามหลักการประกันภัยทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัยจะเอาประกันภัยได้นั้น หมายความว่าผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนได้เสีย เมื่อทรัพย์สินนั้นได้รับความเสียหาย ซึ่งก็คือเจ้าของทรัพย์สินนั่นเอง หรืออาจจะเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะผู้รักษาทรัพย์ก็ได้ อันได้แก่
 
  1. ตัวอาคาร (สิ่งปลูกสร้างไม่รวมฐานราก)
  2. เฟอร์นิเจอร์และเครื่องติดตั้งตรึงตรา
  3. เครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ
  4. สต็อกสินค้า
 

แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

 
  1. ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ให้ความคุ้มครอง
    • ไฟไหม้
    • ฟ้าผ่า
    • ภัยระเบิด
    • ภัยจากยวดยานภาหนะ (รวมถึงช้าง ม้า วัว ควาย)
    • ภัยอากาศยาน
    • ภัยเนื่องจากน้ำ (ไม่รวมถึงภัยน้ำท่วม)
  2. ประกันอัคคีภัยสำหรับธุรกิจ ให้ความคุ้มครอง
    • ไฟไหม้
    • ฟ้าผ่า
    • การระเบิดจากแก๊สหุงต้ม ที่ใช้สำหรับทำแสงสว่าง หรอื เพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้น
 

ภัยที่ซื้อเพิ่มเติมได้

 
  • ภัยจากลมพายุ
  • ภัยจากระเบิด
  • ภัยจากอากาศยาน
  • ภัยจากยวดยานภาหนะ
  • ภัยจากควัน
  • ภัยแผ่นดินไหว
  • ภัยจากน้ำท่วม
  • ภัยเนื่องจากน้ำ
  • ภัยจลาจลและนัดหยุดงาน
  • ภัยระอุ
  • ภัยจากลูกเห็บ
  • ภัยจากการกระทำอันป่าเถื่อน หรือ การกระทำอันมีเจตนาร้าย
  • ภัยต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า (กำหนดทุนประกันจากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ตัวที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นหลัก)
 

จำนวนเงินเอาประกันภัยที่เหมาะสม


เงื่อนไขการรับประกันของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย มีเงื่อนไขอันหนึ่งว่าด้วยการประกันภัยทรัพย์สินต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ให้ถือว่าผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับประกันภัยเองในส่วนที่แตกต่าง ต้องรับภาระส่วนเฉลี่ยการเสียหายตามส่วนทุก ๆ รายการ ผู้เอาประกันภัยจึงควรให้ความสำคัญในมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย แต่มิใช่เอาประกันเกินมูลค่าความเป็นจริง เพราะการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะชดใช้ตามความเสียหายที่เป็นจริง ณ.วันที่เกิดเหตุเท่านั้น จำนวนเงินที่แนะนำให้เอาประกันภัย ไม่ควรต่ำกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง เพราะบริษัทจะคำนวณชดใช้ค่าสินไหมให้กับผู้เอาประกันภัยตามความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับภาระส่วนเฉลี่ยตามเงื่อนไข